รู้จักมูลนิธิฯ

มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม

เรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์สังคม : ก่อเกิดจากการรวมตัวของคนหนุ่มคนสาวในยุคแห่งการแสวงหา แม้วันเวลาผ่านมายาวนานกว่า 4 ทศวรรษ หากความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ต่อสังคม ยังไม่เสื่อมคลาย และด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ ที่เพิ่มขึ้น ได้บ่มเพาะวุฒิภาวะที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสายตาอันยาวไกล ในอันที่จะขับเคลื่อนมูลนิธิ และส่วนที่เกี่ยวข้อง ไปสู่การอยู่ร่วมกันของผู้คน ในสังคมที่งดงาม เท่าที่มนุษย์พึงมี

ด้วยกระบวนการ เรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์สังคม มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม ได้ทำงานร่วมกับชุมชนมาตั้งแต่เริ่มแรกของการก่อเกิด ภายใต้ความเชื่อมั่น ในพลังของชุมชน และจิตใจอาสาสมัครของคนทำงาน เยี่ยงมิสเตอร์แฮรี่ ดูแรนซ์ อาสาสมัครชาวแคนนาดา ซึ่งเป็นจุดเริ่มของมูลนิธิฯ

กิจกรรม “ทุนการศึกษา” แก่น้อง ๆ ผู้ด้อยโอกาสในชนบท โดยมี กรรมการท้องถิ่น ซึ่งเป็นพี่ ๆ อาสาสมัคร จากหลากหลายอาชีพ ที่อาสาเข้ามาช่วยดูแล เป็นที่ปรึกษา ให้กำลังใจแก่น้อง ๆ รวมทั้งช่วยระดมทุนในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มจำนวนยอดเงินที่จะช่วยในกิจกรรมต่าง ๆ ให้แก่น้อง ๆ ด้วย

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย อาทิ โครงการพัฒนาการศึกษาในหมู่บ้านปากาญอ, เข้าร่วมในโครงการค่ายผู้อพยพชายแดนจังหวัดสุรินทร์, เข้าร่วมในโครงการพัฒนาหมู่บ้านชายแดนจังหวัดสุรินทร์, เข้าร่วมในโครงการประสานความร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้. โครงการพันธุ์ไม้พื้นเมืองภาคเหนือ และอื่น ๆ

ตลอดช่วงระยะเวลาอันยาวนาน มูลนิธิฯ ได้ทำงาน อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสสังคมที่แปรเปลี่ยน และภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน หากความเชื่อมั่นในพลังชุมชน ของมูลนิธิฯ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และการสนับสนุนจากผู้ที่พอมี ในสังคม ที่มอบให้มูลนิธิฯ ทำให้เหล่าอาสาสมัครของมูลนิธิฯ ยังคงมีความแน่วแน่ ในการทำงานต่อไป

ประวัติความเป็นมา

มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม(The Foundation of Education for Life and Society) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “กชส.” เป็นหน่วยงานพัฒนาเอกชน (Non Government Organization – NGO) ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2513 เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ นายแฮรี่ ดูแรนซ์ อาสาสมัครชาวแคนาดา วัย 60 ปี ของหน่วยงานอาสาสมัครแคนาดา (CUSO) ซึ่งเข้ามาทำงานที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุในช่วงปลายปี พ.ศ.2513 กิจกรรมเริ่ม แรกคือ การก่อตั้ง “กองทุนแฮรี่ ดูแรนซ์” เพื่อให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนยากจนในชนบท ต่อมาได้จดทะเบียนกองทุนเป็น “มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม” เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2518 ในใบทะเบียนเลขที่ 933 โดยมีแนวทางในการทำงานที่ว่า “การศึกษานำไปสู่การพัฒนาชุมชน” และได้ขยายงานไปเป็นการสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาการศึกษา พัฒนาเด็ก เยาวชน พัฒนาศักยภาพครู และงานพัฒนาชนบท

 

ต่อมาได้จดทะเบียนกองทุนเป็น “มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม” เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ในใบทะเบียนเลขที่ 933 โดยมีแนวทางในการทำงานที่ว่า “การศึกษานำไปสู่การพัฒนาชุมชน” และได้ขยายงานไปเป็นการสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาการศึกษา พัฒนาเด็ก เยาวชน พัฒนาศักยภาพครุและงานพัฒนาชนบท โดยเน้นกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานของการเรียนรู้ร่วมกันสร้างสรรค์สังคม

วัตถุประสงค์

    1. ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนที่ยากจน และขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้มีโอกาสศึกษาอย่างต่อเนื่อง(ประถมศึกษา – ปริญญาตรี) โดยหวังว่า เมื่อจบการศึกษาแล้ว พวกเขาจะกลับไปทำประโยชน์แก่ภูมิลำเนาเดิม
    2. ส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาด้านการเรียนรู้แก่นักเรียน เยาวชน และครูในชนบท เพื่อส่งเสริมศักยภาพการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน
    3. ส่งเสริมการพัฒนาชนบทด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเกษตร บทบาทสตรี เด็ก และเยาวชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา
    4. ส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานบุคคล กลุ่มและองค์กรต่าง ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเกี่ยวกับการศึกษาและพัฒนาชุมชน

แนวทางการดำเนินงาน

กองทุนการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคมเป็นงานพัฒนาการศึกษาของมูลนิธิฯ ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆดังนี้

    1. ทุนการศึกษาเพื่อเด็กนักเรียนด้อยโอกาส
      เป็นการจัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในชนบทที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และประสบปัญหาครอบครัวอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเรียนจบในระดับหนึ่งโดยจัดสรรจากเงินบริจาค และดอกผลจากงานกองทุนการศึกษาในแต่ละปี
    2. งานพัฒนาเด็ก เยาวชน และกิจกรรมด้านการศึกษา
      สนับสนุนโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครูในด้านต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ ที่ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิฯ ประกอบด้วย
    • 2.1 กิจกรรมเสริมอาชีพและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น และการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
    • 2.2 กิจกรรมพัฒนาด้านการศึกษาแก่เยาวชนและครูในพื้นที่เช่น การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในโรงเรียน และชุมชนภายใต้การขับเคลื่อนงาน “เครือข่ายครูการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม”
    • 2.3 กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพเด็กนักเรียนด้านต่างๆ ในหลักสูตรระยะสั้น อย่างต่อเนื่อง และกิจกรรมค่ายเครือข่ายนักเรียนทุนจากทั่วประเทศประจำปี เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
    • 2.4 จุลสารสะพานสายรุ้งเปรียบดั่งสะพานที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้และถ่ายทอดเรื่องราวที่มีคุณค่าสู่กัน